วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความเข้าใจเรื่อง “ทุกข์ของชีวิต”

ความเข้าใจเรื่อง ทุกข์ของชีวิต

ความหมาย ทุกข์ของชีวิต
พระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเรื่อง “ทุกข์” ในความหมาย “ทุกข์ของชีวิต” ส่วนใหญ่ปรากฏในที่ 2 แห่ง คือ ทุกข์ในอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และทุกข์ในกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสาเหตุความเป็นทุกข์ไว้ 3 อย่าง ได้แก่ 1) เกิดจากความไม่สบายกาย 2) เกิดจากสังขาร (สภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) และ 3) เกิดจากความแปรปรวน ในหนังสือพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด... คำวัด ได้ให้ความหมายคำว่า “ทุกข์” หมายถึง 1) ความไม่สบายกายไม่สบายใจ (ทุกข์ในอริยสัจ 4) 2) ภาวะที่ทนได้ยาก ภาวะที่ดำรงคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกข์ในกฎไตรลักษณ์) ในขณะที่หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ได้ให้ความหมายว่า 1) สภาพที่ทนอยู่ได้ยากหรือสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความ เกิดขึ้นและความดับสลายเนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้ขึ้นต่อตัวมันเอง (ทุกข์ในกฎไตรลักษณ์) และ 2) สภาพที่ทนได้ยากหรือความรู้สึกไม่สบาย (ทุกข์ในอริยสัจ 4) คือทุกขเวทนา ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา 5) ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายคือทุกข์กาย (โทมนัสคือความไม่สบายใจ) แต่ถ้ามาโดยลำพัง (ในเวทนา 3) ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ